Page 199 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 199
“อย่างนี้ ดูหมิ่นกันชัดๆ...”
เสมรชัย บุญเลิศ*
พงษ์กฤษณ เสงี่ยมอยู่**
ชิษณุพงศ์ ลีวานิชย์***
ณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประเด็นความสนใจของคนไทยนอกจากกระแสความหวาดวิตกกังวล
ในเรื่องโรคระบาด (โควิด - ๑๙) ที่กำลังสั่นสะเทือนความรู้สึกต่อคนทั้งโลก รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจ
ของประเทศที่กำลังย่ำแย่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะได้พบเห็นกันมากขึ้นในช่วงนี้ก็คงเป็นกระแสการบูลลี่กัน
ตามสื่อต่าง ๆ สังเกตดูเถอะ จะเห็นข่าวเริ่มมีมาเป็นระยะ ๆ ว่า “ประเด็นดราม่า บูลลี่ดารา
อักษรย่อ...” หรือดาราคนนั้น คนดังคนนี้ ออกแถลงข่าวตอบโต้หรือขู่จะฟ้องร้องพวกเกรียน
มือคีย์บอร์ดทั้งหลายหากไม่หยุดคุกคาม บูลลี่ เขาหรือเธอในเรื่อง...
หากจะดูว่า การบูลลี่ (Bully) คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและ
ร่างกาย ซึ่งแพทย์ทางด้านจิตวิทยาได้ให้นิยามว่า การบูลลี่หากเกิดในชีวิตจริงมักเป็นการล้อเลียน
รูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายได้ ส่วนในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่
เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายครั้งการบูลลี่สร้างผลกระทบทางความรู้สึก
มากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและ
สร้างบาดแผลทางกายได้
จึงน่าสนใจว่า การบูลลี่ผู้อื่นทางวาจา หรือในทางโซเชียลมีเดีย ก็คงไม่แตกต่างจากการดูหมิ่น
ผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ซึ่งถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาสักเท่าใด
บทความแรกของปีนี้จึงขอนำเสนอสาระความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่น
เพื่อเกาะกระแสของการบูลลี่นั่นเอง
ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติเรื่อง ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นไว้ในมาตรา ๓๙๓ ว่า
“ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับ
ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งคำว่า “ดูหมิ่น” หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท ทำให้อับอาย
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่น ต้องมีลักษณะของการเจตนาดูถูก เหยียดหยาม
ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า อันเป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึก
ของผู้อื่น อาจกระทำด้วยวาจา หรือกริยาท่าทางก็ได้ เช่น การกล่าวถ้อยคำเหล่านี้ต่อผู้เสียหาย
“ตอแหล” (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๑๙/๒๕๕๒) “ไอ้ทนายเฮงซวย” (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๒๓/๒๕๕๑)
“ไอ้หน้าโง่” (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๗๒/๒๕๔๒) “ไอ้ห่า” (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๐๐/๒๕๒๗)
หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการกล่าวถ้อยคำอันหยาบคายอันเป็นการลดทอนคุณค่าในตัวเองของบุคคล
*
ขณะเขียนบทความดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา
** ขณะเขียนบทความดำรงตำแหน่งอัยการประจำกอง สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา
*** นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยทักษิณ
อัยการนิเทศ เล่มที่ ๘๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ 189