Page 47 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 47
แต่จำเลยอ้างว่าเจรจาตกลงขายรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบให้นาย ป. ในราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท
และโอนเงินให้แก่โจทก์ร่วม ๖๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่ความจริงขาย ๖๘๐,๐๐๐ บาท นั้น แสดงให้เห็นว่า
จำเลยมีเจตนาที่จะยักยอกเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท ของโจทก์ร่วมมาก่อนที่จะได้รับเงินจาก
นาย ป. แล้ว การโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นแตกต่างจากการส่งมอบตัวเงินสด
เพราะมีธนาคารเป็นตัวกลางในการส่งมอบเงินสดผ่านขั้นตอนของธนาคารที่ส่งถ่ายข้อมูล
ด้วยความเร็วแสงโดยใช้ตัวเลขเงินในบัญชีเป็นหลักฐานยืนยันในการรับโอนเงิน ทำให้ผู้รับโอน
สามารถรับเงินได้แม้อยู่ในระยะไกลซึ่งการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ย่อมเสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อผู้รับโอน
ได้รับเครดิตยอดเงินทางบัญชีครบถ้วนแล้ว ดังนั้นเมื่อนาย ป. ดำเนินการโอนเงินให้แก่จำเลยและ
ปรากฏว่ามีเครดิตยอดเงินเข้าบัญชีของจำเลยเรียบร้อย ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมแสดงว่า
การป้อนคำสั่งให้โอนเงินจากบัญชีของนาย ป. ในจังหวัดปทุมธานีไปเข้าบัญชีของจำเลย
ที่กรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เงินอันเป็นต้นเหตุของการกระทำ
ความผิดฐานยักยอกจึงหลุดพ้นจากความครอบครองของนาย ป. และเข้าไปอยู่ในความครอบครอง
ของจำเลยตั้งแต่นาย ป. สั่งโอนเงินผ่านทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขณะอยู่ที่อำเภอท่าม่วง
จังหวัดกาญจนบุรี จำเลยสามารถเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากสถานที่ใดเวลาใดนับจากที่ได้
รับโอนเงินได้ทันที ดังนั้น อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำ
ความผิดฐานยักยอกของจำเลยนอกเหนือจากจังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานครด้วย
ถือเป็นกรณีความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่งแต่อีกส่วนหนึ่งกระทำในอีกท้องที่หนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ (๒) เมื่อสถานีตำรวจภูธรท่าม่วง
เป็นสถานที่ที่โจทก์ร่วมแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าม่วง
จึงมีอำนาจสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา ๑๙ วรรคสอง (ข) โจทก์จึงมี
อำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ย้อนสำนวน
ไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ในปัญหาที่ยังไม่ได้วินิจฉัยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ในผลฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสารสนเทศ
สำนักงานวิชาการ
อัยการนิเทศ เล่มที่ ๘๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ 37