Page 48 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 48
หมายเหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ได้ขยายความคำว่าการกระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ ให้ครอบคลุมไปถึงการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่
ผู้ต้องหามาถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานยักยอกด้วย ซึ่งคำว่า “การกระทำความผิดอาญา”
ก็ดี คำว่า “ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง” ก็ดีตามที่
บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หากตีความตามตัวอักษรก็ควรจะหมายถึงการกระทำเฉพาะในส่วนของ
ผู้ต้องหาหรือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ต้องหาที่ได้มีการกระทำอันเป็นความผิด และควรจะต้อง
เป็นการกระทำของผู้ต้องหาตั้งแต่ในขั้นตอนที่ถือว่าได้เริ่มลงมือกระทำความผิดแล้วซึ่งการกระทำ
ในขั้นตอนต่าง ๆ ของผู้ต้องหานั้นรวมไปถึงการที่ผู้ต้องหาเจตนาให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น
โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคท้าย ด้วย
ฉะนั้นแม้บางกรณีจะดูเสมือนจะไม่มีการกระทำของผู้ต้องหาโดยตรง แต่หากถือว่าผู้ต้องหา
ได้กระทำโดยงดเว้นก็อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดได้ เช่น ผู้ต้องหาเป็นตัวแทนผู้เสียหาย
ไปเก็บเงินจากลูกค้าของผู้เสียหายแล้วต้องโอนเงินกลับมาชำระบัญชีกับผู้เสียหาย ณ ที่ทำการของ
ผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้ต้องหาเก็บเงินจากลูกค้าไว้ในความครอบครองแล้วได้เบียดบังเอาไปโดยไม่โอน
เงินและไม่มาชำระบัญชีกับผู้เสียหาย ณ สถานที่ทำการ เช่นนี้ สถานที่ทำการของผู้เสียหายก็ถือว่า
มีส่วนหนึ่งของการกระทำผิดของผู้ต้องหาเกิดขึ้นด้วย เพราะถือว่าผู้ต้องหาได้กระทำโดยงดเว้น
และเมื่อถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดฐานยักยอก พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่สถานที่ทำการ
ของผู้เสียหายตั้งอยู่จึงมีอำนาจสอบสวนด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔๔๕/๒๕๕๕) ๑
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เห็นได้ว่าศาลฎีกาได้ตีความขยายความหมายของ
คำว่าการกระทำความผิดอาญาและส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดอาญาครอบคลุมไปรวมถึง
การกระทำของบุคคลอื่นและอยู่ในขั้นตอนก่อนการกระทำของผู้ต้องหา แต่ศาลฎีกาได้ขยายความ
ถือเอามาเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดด้วย และเมื่อถือเอาเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิดจึง
ถือว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในเขตมีอำนาจสอบสวนคดีนั้นด้วย
การตีความขยายความหมายของคำว่า การกระทำความผิดอาญาและส่วนหนึ่งของ
การกระทำความผิดอาญาดังกล่าวไม่ควรนำมาใช้เป็นหลักทั่วไป แต่ควรใช้เฉพาะกรณีมีเหตุพิเศษ
เท่านั้น เนื่องจาก การพิจารณาว่าการกระทำขั้นตอนใดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด
ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง โดยมิได้มีผลต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๔๔๕/๒๕๕๕ การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่าง ๆ แล้วไม่โอนเงิน
ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วมที่อำเภอกระทุ่มแบน ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิดอ้างหรือเชื่อว่า
ได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระ
บัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิด
ซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ (๓) และ (๔) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใด
ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงาตำรวจ สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน พนักงานสอบสวน
สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
38 คำพิพากษาศาลฎีกา