Page 103 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 103
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๓๑/๒๕๖๓ (ประชุมใหญ่)
พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ (มาตรา ๑๖๐ ตรี)
การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ แม้มิใช่โทษที่ใช้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๘ หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ ก็ตาม แต่ก็มีบทบังคับเช่นเดียวกับ
วิธีการเพื่อความปลอดภัยด้วยเจตนาคุ้มครองประชาชนหรือสังคมเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกพักใช้
ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไปขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในกรณีที่ก่อ
ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอีกตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อคุ้มครอง
ประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของผู้กระทำความผิด การพักใช้
ใบอนุญาตขับขี่จึงเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยที่มีความสำคัญเพื่อป้องปรามมิให้ผู้ขับขี่
กลับไปกระทำความผิดในช่วงระยะเวลาที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต ทั้งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๑๕) ให้คำนิยามคำว่า รถ หมายถึง ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่
รถไฟและรถราง ดังนั้น รถจักรยานยนต์และรถยนต์จึงอยู่ในความหมายของคำว่า รถ ด้วย
ซึ่งการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จะอยู่ในลักษณะ ๑๙ บทกำหนดโทษ
ดังเช่นมาตรา ๑๕๗/๑, ๑๖๐ ทวิ, ๑๖๐ ตรี โดยมิได้กล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะชนิดหนึ่ง
ชนิดใดแล้วให้ศาลมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องหรือชนิดนั้นไว้โดยเฉพาะ
แต่เป็นการกล่าวถึงการขับขี่ยานพาหนะที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดแล้วให้ศาลมีคำสั่ง
พักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดไปยุ่งเกี่ยว ควบคุม
หรือขับขี่ยานพาหนะทั้งหมดที่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก
ศาลจึงต้องสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทุกกรณี ไม่ว่าใบอนุญาตขับขี่นั้น
จะเกี่ยวข้องกับยานพาหนะที่ผู้กระทำความผิดขับขี่ในขณะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
แม้จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่รถคนละประเภทกันกับรถที่จำเลยขับในขณะกระทำความผิด
ศาลก็มีอำนาจสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว
ของจำเลยได้
______________________________
พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์
ระหว่าง {
นาย จ. จำเลย
อัยการนิเทศ เล่มที่ ๘๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ 93