Page 127 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 127
เงื่อนไขระงับคดี และการออกคำสั่งกรณีสิทธิฟ้องคดีอาญาระงับ
ชาติ ชัยเดชสุริยะ*
๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
(๑) คำว่า “เงื่อนไขระงับคดี” ไม่ใช่ถ้อยคำที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญาโดยตรง แต่มีที่มาจากหลักการในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ ในการที่
พนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้ ต้องเป็นกรณีที่รัฐยังคงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะ
ดำเนินคดีนั้น แต่หากรัฐไม่มีอำนาจดำเนินคดีนั้นเสียแล้วก็ย่อมไม่อาจที่จะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้
ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ ใช้ข้อความว่า “สิทธินำคดีอาญา
มาฟ้องย่อมระงับไป” ซึ่งเดิม สำนักงานอัยการสูงสุดได้นำมากำหนดไว้ในระเบียบกรมอัยการว่าด้วย
การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักงาน
อัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๘ ข้อ ๙ โดยใช้
คำว่า “เงื่อนไขระงับคดี” (แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันกับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาตรา ๓๙ ในบางส่วน) และกำหนดให้ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขระงับคดี พนักงานอัยการ
จะต้องสั่งยุติการดำเนินคดี ต่อมาระเบียบกรมอัยการฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยระเบียบ
สำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งใช้บังคับแทน และมีการกำหนด
หลักเกณฑ์เรื่องดังกล่าวไว้ในระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔ โดยมีสาระสำคัญเป็นทำนองเดียวกัน
กับระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๒๘ ข้อ ๒๙ ที่แก้ไขดังกล่าว เพียงแต่มีถ้อยคำในรายละเอียดที่แตกต่างกัน
เล็กน้อย ต่อมาระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๗ ถูกยกเลิก
โดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งใช้บังคับแทน
และมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องดังกล่าวไว้ในระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๘ ซึ่งมีหลักเกณฑ์
ในรายละเอียดบางส่วนแตกต่างจากระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔
(๒) เหตุผลที่ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว กำหนดให้พนักงานอัยการ
พิจารณาเรื่องเงื่อนไขระงับคดีก่อน และพนักงานอัยการพึงระมัดระวังในเรื่องเงื่อนไขระงับคดี
ตลอดเวลาการดำเนินคดี โดยหากเข้าเงื่อนไขระงับคดีตามข้อที่กำหนดไว้ พนักงานอัยการจะต้องสั่ง
ยุติการดำเนินคดี แม้พนักงานอัยการจะพิจารณาเห็นว่าผู้ต้องหานั้นมิได้กระทำความผิด
ตามข้อกล่าวหา ก็จะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหานั้นไม่ได้ ก็เนื่องมาจากอำนาจที่จะสั่งฟ้อง
หรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหานั้นไม่มีแล้วหรือควรสิ้นสุดลงแล้ว
(๓) การสั่งยุติการดำเนินคดี ไม่ใช่คำสั่งไม่ฟ้อง จึงไม่ต้องเสนอผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้ง
คำสั่งไม่ฟ้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ หรือ
มาตรา ๑๔๕/๑ หากแต่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว
* รองอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
อัยการนิเทศ เล่มที่ ๘๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ 117