Page 62 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 62

ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาสนับสนุนการกระทำความผิดนั้นด้วย คือต้องรู้ว่าผู้ที่ตนช่วยเหลือสนับสนุน
          กำลังจะกระทำความผิด หากไม่รู้ย่อมไม่เป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด ๑
                ในส่วนของการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเปิดบัญชีธนาคารแล้วยอมให้ผู้กระทำความผิด

          นำบัญชีธนาคารของตนไปใช้รับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา
          พิพากษาลงโทษการกระทำในลักษณะนี้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดทั้งสิ้น
          อย่างไรก็ตาม ในทุกคดีในลักษณะนี้ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานผู้สนับสนุนนั้น ในทาง
          นำสืบของโจทก์ล้วนปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรว่าจำเลยน่าจะรู้ว่าผู้ที่ตนช่วยเหลือสนับสนุน
          นั้นกำลังจะกระทำความผิดทั้งสิ้น พยานหลักฐานที่ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้ในความผิดฐาน
          สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้แก่ กรณีผู้ค้ายาเสพติดให้จำเลย
          ซึ่งเป็นเพื่อนกันเปิดบัญชีเงินฝากไว้ให้ และใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยรับโอนเงินค่ายาเสพติด
          จากลูกค้า และในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ค้ายาเสพติดมีการบันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่
          ของจำเลยไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้จักคุ้นเคยกับผู้ค้ายาเสพติด (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่

          ๔๒๘๑/๒๕๖๒), กรณีจำเลยเป็นคนรักของผู้ค้ายาเสพติด และนั่งรถมากับผู้ค้ายาเสพติดเวลามาส่ง
          เมทแอมเฟตามีนบ่อยครั้ง มีการโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลย
          ในแต่ละวันมีการนำเงินเข้าฝากหลายจำนวนแล้วถอนเงินออกจากบัญชีโดยตลอด และจำเลย
          มอบบัตรเอทีเอ็มให้ผู้ค้ายาเสพติดนำไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว (ตามคำพิพากษา
          ศาลฎีกาที่ ๗๙๔๗/๒๕๖๑), กรณีจำเลยเปิดบัญชีธนาคารโดยรู้เห็นยินยอมให้ผู้ค้ายาเสพติดนำสมุด
          บัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไปใช้เบิกถอนเงินออกไปจากบัญชีของจำเลยเป็นจำนวนมาก และ
          ในขณะจับกุมผู้ค้ายาเสพติดพร้อมยาเสพติดของกลางพบจำเลยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุกับผู้ค้า

          ยาเสพติดด้วย (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๖๗/๒๕๖๐) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ
          แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของการสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
          ซึ่งมีอัตราโทษเพียงสองในสามนั้น แค่เพียงปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยให้คนร้ายซึ่งเป็น
          คนแปลกหน้ายืมบัญชีธนาคารหรือบัตรเอทีเอ็มของจำเลย แล้วคนร้ายใช้บัญชีธนาคารของจำเลย
          รับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ แล้วคนร้ายมอบค่าตอบแทนให้แก่จำเลย
          เพียงเท่านี้ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานผู้สนับสนุนแล้ว (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๖๓๐/๒๕๕๓)
          อันจะเห็นได้ว่าแนวการพิจารณาพยานหลักฐานของความผิดฐานสนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา
          และสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
          พ.ศ. ๒๕๓๔ มีระดับมาตรฐานที่แตกต่างกันตามอัตราโทษของทั้งสองกฎหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น

          กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้จะมีผลเปลี่ยนแปลงแนวการพิจารณาพยาน
          หลักฐานของความผิดฐานสนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่

          





































































 เอกกมล  บำรุงพงศ์


          ๑ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๔๘/๒๕๒๕ จำเลยขับเรือรับผู้โดยสารไปยังที่เกิดเหตุโดยไม่ทราบว่าเป็นคนร้ายจะไปฆ่าผู้ตาย
           หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยจำต้องขับเรือไปส่งคนร้ายด้วยความจำเป็น เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของคนร้ายซึ่งจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยง
           หรือขัดขืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ (๑) เมื่อส่งคนร้ายแล้วก็ไปแจ้งความแก่ผู้ใหญ่บ้านทันทีดังนี้ จำเลยไม่ต้อง
           รับโทษ


              52    คำพิพากษาศาลฎีกา
   57   58   59   60   61   62   63   64   65   66   67