Page 140 - อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 86 พ.ศ. 2564
P. 140
หมายเหตุเพื่ออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งยุติการดำเนินคดี
๑. หนังสือเวียนของสำนักงานอัยการสูงสุดในเรื่องที่เกี่ยวกับเงื่อนไขระงับคดีและการสั่ง
ยุติการดำเนินคดี มีทั้งฉบับที่อธิบายความและขยายความตามระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔
ซึ่งบางฉบับยังคงสอดคล้องกับตามระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๘ แต่บางฉบับอาจจำเป็นต้องมี
การพิจารณาทบทวนต่อไป
๒. หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนมาก ที่ อส ๐๐๐๗ (ปผ)/ว ๕๖ ลงวันที่
๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการออกคำสั่งกรณีสิทธิฟ้องคดีอาญาระงับ
ซึ่งซักซ้อมความเข้าใจว่า ในกรณีสิทธิฟ้องคดีอาญาระงับเพราะเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขระงับคดี
ตามระเบียบดังกล่าว ให้พนักงานอัยการสั่งคดีว่า “ยุติการดำเนินคดีเพราะ...(ระบุเงื่อนไขระงับคดี)”
ทั้งนี้ เงื่อนไขระงับคดีจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมไปถึงกฎหมายอื่น
ยกเว้นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ อส (สฝปผ.) ๐๐๑๘/ว ๙๔ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนด
แนวทางปฏิบัติไว้เป็นกรณีเฉพาะเรื่อง ส่วนความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ นอกจากนี้ให้พนักงานอัยการ
พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและระเบียบดังกล่าวต่อไป นั้น เห็นว่า กรณีสิทธิ
นำคดีอาญามาฟ้องระงับตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒
มาตรา ๖๖ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ในบังคับของระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๘ วรรคสอง (๑๒)
“มีเหตุสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามกฎหมายอื่น”
๓. หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส ๐๐๐๗ (พก)/ว ๔๔๓ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
เรื่อง กำหนดแนวทางในการดำเนินการกับสำนวนการสอบสวนที่เด็กอายุยังไม่เกินสิบปีเป็นผู้ต้องหา
ว่ากระทำความผิด ซึ่งกำหนดว่า เมื่อพิจารณาสำนวนการสอบสวนดังกล่าวแล้วเห็นว่าผู้ต้องหา
เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปีได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้พนักงานอัยการสั่งคดีว่า
“ผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่เด็กนั้นไม่ต้อง
รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๓ จึงสั่งยุติการดำเนินคดี” แต่ถ้าพนักงานอัยการ
พิจารณาสำนวนการสอบสวนดังกล่าวแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบปีไม่ได้กระทำ
การอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดให้มีคำสั่งไม่ฟ้องต่อไป นั้น หนังสือเวียนฉบับนี้มีส่วนแก้ไข
เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิมตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส ๐๐๑๘/ว ๑๑๕ ลงวันที่
๘ ธันวาคม ๒๕๓๕ เรื่อง การสั่งยุติการดำเนินคดี ที่กำหนดว่า “กรณีที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา
ว่าผู้กระทำไม่ต้องรับโทษที่มีอยู่ในมาตรา ๖๕, ๖๗, ๗๐, ๗๑, ๗๓, ๗๔ หรือ ๘๒ นั้น... ไม่อยู่ใน
ความหมายของ “กฎหมายยกเว้นโทษ” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙
กรณีเช่นนี้ต้องสั่งไม่ฟ้องและต้องดำเนินการต่อไป ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาตรา ๑๔๕” นอกจากนี้ ในส่วนที่หนังสือเวียนฉบับนี้ระบุในตอนท้ายว่า
“ถ้าพนักงานอัยการพิจารณาสำนวนการสอบสวนดังกล่าวแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุ
ยังไม่เกินสิบปีไม่ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดให้มีคำสั่งไม่ฟ้องต่อไป”
อาจไม่สอดคล้องกับตามระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๔ วรรคหนึ่ง และระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อ ๔๘ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า “ในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา
เรื่องเงื่อนไขระงับคดีก่อน”
130 บทความ